วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์ล้านนา

ความนำ
อาณาจักรล้านนาในเชิงวัฒนธรรม ถือเอาว่าหมายถึงเดินแดนในภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน อันได้แก่จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง รวมตลอดไปถึงรัฐเชียงตุงในเขตประเทศสหภาพพม่า และแคว้นสิบสองพันนาในเขตประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประชากรในเขตดังกล่าวมีพื้นฐานร่วมกันที่สำคัญยิ่งคือ ความเป็นชนเผ่าไท (The Tai Races) ซึ่งมีพื้นฐานทางภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายคลึงกัน และโดยเฉพาะสิ่งที่ทำให้ประชาชนเหล่านั้นผูกพันกันอย่างแนบแน่น ก็คือความเชื่อในพุทธศาสนา และสิ่งที่โยงใยให้เกิดมาตรฐานร่วมของความรู้ความคิด และความเชื่อในหมู่ชนทั้งปวง ก็คือการที่ใช้อักษรแบบเดียวกันในการบันทึกคัมภีร์ทางพุทธศาสนา และรวมตลอดถึงคัมภีร์ที่บันทึกความรู้ต่าง ๆ และจากการที่เอกสารเล่านั้นมีการคัดลอกต่อเนื่องกันมาทั้งในแง่การคัดลอกต่อเนื่องในท้องถิ่นและการคัดลอกข้ามถิ่น อักษรที่ปรากฎในการบันทึกเอกสารนานาชนิดในเขตล้านนานี้อาจพบได้ว่ามีถึง 3 ระบบ คือ

1. อักษรธรรมล้านนา คือ อักษรที่นิยมใช้จารคัมภีร์พุทธศาสนาทั่วไป
2. อัษรไทนิเทศ หรือ อักษรขอมเมือง นิยมใช้บันทึกกวีนิพนธ์ประเภทโคลง และจารในใบลาน
3. อักษรฝักขาม คืออักษรที่ปรับปรุงจากอักษรสุโขทัย นิยมใช้ในงานประเภทศิลาจารึก แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเพียงอักษรธรรมล้านนาเท่านั้น
อักษรธรรมล้านนานี้เป็นชื่อนิยมใช้เรียกในเชิงวิชาการ แต่ในหมู่ประชาชนทั่วไปอาจเรียกว่า ตัวเมือง หรือ อักขระเมือง จากการศึกษาของผู้รู้หลายท่านก็อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า อักษรชนิดนี้พัฒนาขึ้นจากอักษรมอญโบราณแห่งอาณาจักรหริภุญชัยในช่วงประมาณ พ.ศ. 1600 และก็อาจสืบโยงต้นเค้าไปถึงอักษรพราหมี ของพระเจ้าอโศกแห่งอินเดียได้ด้วย
อักษรธรรมล้านนานี้ นิยมใช้ในการจารคัมภีร์ใบลานซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ซึ่งมีคัมภีร์ชื่อต่าง ๆ ประมาณ 2000 ชื่อ นอกจากนี้ยังนิยมใช้บันทึกความรู้ต่าง ๆ ในรูปของสมุดที่ทำขึ้นจากเปลือกของ ไม้สา เรียกว่า พับสา หรือ พับหนังสา ซึ่งเป็นเสมือนตำราหรือคู่มือของนักวิชาการพื้นบ้านล้านนาได้เป็นอย่างดี
ในการเสนอแนวการเรียนอักขระชนิดนี้ ใคร่จะเสนอว่าน่าจะเรียนการเขียนภาษาล้านนาหรือล้านนาไทยเสียก่อนพอให้เข้าใจ จากนั้นจึงจะเรียนการใช้อักษรนี้ในการบันทึกภาษาอื่น เช่น ภาษาบาลีสันสกฤต เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น